April 27, 2024

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ กนอ. ขับเคลื่อน ศก.ประเทศ ไม่แสวงหากำไร

สัมภาษณ์

การใช้ Key Performance Indicator หรือ KPI ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน มักจะมีผลต่อการกำหนดและแผนการดำเนินงานของทั้งตัวบุคคลและตัวองค์กรทั้งนั้น ไม่ต่างจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่มีภารกิจหลักคือ หน้าที่ของการจัดหาพื้นที่เพื่อพัฒนารองรับการลงทุนในประเทศ ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) วางเป้าหมายให้ กนอ.มีรายได้เติบโตปีละ 7% แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่ยากเกินไป แต่การได้มาของรายได้ดังกล่าวนั้น จะมาจากส่วนใด อย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายวีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ กนอ.

3 ปีในตำแหน่งผู้ว่าฯ กนอ.

หลังจากเข้ามารับตำแหน่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้ยังคงมีภาระหน้าที่ที่ยังทำไม่เสร็จอีกส่วนหนึ่ง แม้ว่าล่าสุดผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-มีนาคม 2567) กนอ.จะมียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 3,946 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3,472 ไร่ และนอกพื้นที่ EEC อีก 474 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 158,372 ล้านบาท หรือเกินกว่าเป้าหมายของปีงบประมาณ 2567 ที่ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าตลอดทั้งปีไว้ 3,000 ไร่เท่านั้น ดังนั้น ในปี 2567 กนอ.จึงปรับเป้ายอดขายที่ดิน/เช่าที่เป็น 4,000-4,500 ไร่

การปรับเป้าหมายดังกล่าวเป็นผลมาจากการประเมินทิศทางเศรษฐกิจ แนวโน้มของนักลงทุน ความพร้อมของประเทศไทย และที่สำคัญก็คือ การเกิดสงครามในหลายภูมิภาคของโลกที่ยังยืดเยื้อ ถึงจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่กลับเป็นอานิสงส์ “ผลบวก” ที่ช่วยให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น กนอ.จึงเร่งจัดสรรพื้นที่ เร่งพัฒนาพื้นที่ที่ยังคงเหลืออยู่ 25,000 ไร่ให้พร้อม เพื่อรองรับกระแสการลงทุนที่กำลังจะหลั่งไหลเข้ามา

และถือเป็นโอกาสปีทองที่ไทยจะเร่งดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ พร้อมทั้งการได้เทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์เข้ามา โดย กนอ.ได้เริ่มศึกษา 3 พื้นที่สำหรับจัดทำนิคมอุตสาหกรรม Circular, นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่แลนด์บริดจ์ และนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

วัตถุประสงค์ของ กนอ.

การเพิ่มของรายได้จากการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจึงเป็นการดำเนินงานตามปกติ ขณะที่เป้าหมายที่ต้องเติบโตปีละ 7% นั้น ซึ่งนั่นจะทำให้ กนอ.มีรายได้ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นภารกิจที่แท้จริงหรือไม่นั้น ในประเด็นนี้ กนอ.คือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องไม่แสวงหากำไร แต่ต้องเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้มีการชี้แจงให้กับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) รับฟัง เพื่อวางแนวทาง เป้าหมาย และบทบาทของ กนอ.ใหม่ ต้องอย่าทำให้ผิดวัตถุประสงค์

หากเราทำรายได้โตไม่ถึงปีละ 7% แล้วทำให้ KPI เราตก เรายอมรับได้หรือไม่ มันเป็นคำถามที่เราก็ต้องเข้าไปคุยกับบอร์ด เราต้องชี้แจงให้ทราบ ถ้าเราจะมีรายได้เพิ่มจากการขึ้นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ครั้งละ 3-5% แล้วสุดท้ายผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ เป็นต้นทุนของเขาที่เพิ่มขึ้น มันก็ยิ่งทำให้เราอาจเสียโอกาสในการแข่งขัน เพราะเพื่อนบ้านเราเขาก็เร่งพัฒนา เราเสียเปรียบเรื่องค่าแรง ต้นทุนการผลิตจากราคาพลังงานอยู่แล้ว ส่วนการวัด KPI กนอ.ถูกวัดจาก สคร. ส่วนตัวผู้ว่าฯ เองจะถูกวัดจากบอร์ด ทุกอย่างมันมีเป้าหมายกำหนด มีหลักเกณฑ์ และเหตุผลของมัน แต่เราก็ต้องมีจุดยืนว่า กนอ.ตั้งขึ้นมาเพื่อทำอะไร จะมุ่งหารายได้ หรือจะช่วยพัฒนาประเทศ

ดึงดูดนักลงทุนเป้าหมายแรก “จีน”

กนอ.ยังมีหน้าที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศให้มากที่สุด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น (New S-curve) ด้วยการเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสม ระบบสาธารณูปโภค และอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้พร้อมในไตรมาส 2 เตรียมเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศจีน โดยมีเป้าหมายจะดึงอุตสาหกรรมการแพทย์เข้ามามากขึ้น จะเห็นได้จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 จีนคือประเทศแรกที่สามารถสร้างวัคซีนโควิด ซิโนแวค ขึ้นมาได้เป็นรายแรกของโลก และยังมีเทคโนโลยี รวมถึงบริษัทที่มีศักยภาพอีกมาก ในขณะที่ไทยเองที่ผ่านมามีการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ค่อนข้างน้อย ซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องยังมีไม่ครบ

บอร์ดไฟเขียวตั้ง 2 นิคมใหม่

เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมบอร์ด กนอ.ได้อนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้น 2 แห่ง พื้นที่ 1,295 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอลงนามเพื่อดำเนินการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยทั้ง 2 แห่งเป็นนักลงทุนคนไทย ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า การตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะต้องเป็นคนไทย สัญชาติไทย และสามารถมีผู้ร่วมลงทุนได้ แต่ต้องมีสัดส่วนคนไทย 51% ต่างชาติ 49%

ทั้งนี้ ยังคงเป็นนักลงทุนรายเก่า 1 รายที่เห็นศักยภาพในพื้นที่ภาคเหนือ จึงตัดสินใจลงทุนที่นั่น ส่วนอีกรายเป็นนักลงทุนรายใหม่ ที่ปักธงไว้ในพื้นที่ EEC อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แห่งจะรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญอย่าง อิเล็กทรอนิกส์ การเกษตร และผลิตผลจากการเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม กิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐาน รวมถึงกิจการขนส่งและกระจายสินค้า นอกจากนี้ ยังมีการขยายพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมเดิมอีก 4 แห่ง พื้นที่ 149 ไร่

โปรโมชั่นกระตุ้นการลงทุน

ครึ่งปีหลัง 2567 สัญญาณการลงทุนจากนักลงทุนยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน การจัดโปรโมชั้นกระตุ้นยอดขายจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ โดยในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) จ.ระยอง เริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน 2566 จนถึง 27 ธันวาคม 2567 ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 1 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ปีแรก

โดยมีเงื่อนไขคือ ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมตามกรอบเวลา วางหลักประกันการเช่าที่ดินเป็นเงินสด หรือหนังสือค้ำประกันเต็มจำนวนมูลค่า 2 เท่าของค่าเช่ารายปี ห้ามให้เช่าช่วง หรือโอนสิทธิการเช่าที่ดินบางส่วน หรือทั้งหมดภายใน 2 ปี แจ้งเริ่มประกอบกิจการภายใน 3 ปี และมีระยะเวลาการเช่าที่ดินไม่น้อยกว่า 10 ปี

และนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ในส่วนของ Rubber City เริ่มวันที่ 15 มีนาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2567 ผู้ประกอบกิจการใหม่จะได้รับส่วนลด 3% จากราคาขายที่ดิน ขณะที่ผู้ประกอบกิจการเดิมจะได้รับส่วนลด 5% จากราคาขายที่ดิน มีเงื่อนไขคือ ทำสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อประกอบกิจการ ชำระค่ามัดจำไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าที่ดิน แจ้งเริ่มประกอบกิจการภายใน 3 ปี ห้ามขายหรือโอนที่ดินภายใน 9 ปี เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กนอ. กรณีไม่ปฏิบัติตาม กนอ.มีสิทธิยกเลิกมาตรการ ยึดเงินมัดจำ และเรียกร้องค่าเสียหายได้

ทบทวนผลศึกษามาบตาพุดช่วงที่ 2

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 55,400 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือมาบตาพุด เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ (LNG) 14.8 ล้านตัน/ปี เอกชนร่วมลงทุน โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทั้งถมทะเล สร้างท่าเรือ และประกอบกิจการ ระยะเวลาดำเนินการ 35 ปี คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมูลค่า 32,000 ล้านบาทนั้น 
ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ที่ 87.33% (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เม.ย. 67) การถมทะเลและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2567 และสามารถก่อสร้างท่าเรือก๊าซฯ ได้ในช่วงต้นปี 2568 ก่อนที่จะพร้อมเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในปี 2570

ขณะที่การก่อสร้างโครงการในช่วงที่ 2 นั้น อยู่ระหว่างทบทวนรายงานผลการศึกษา (Feasibility Study) เพื่อพิจารณาค่าร่วมดำเนินการระหว่างรัฐและเอกชนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ กนอ.ต้องกลับมาทบทวนบทบาทตนเองว่าจะมุ่งสร้างรายได้ กำไรเท่านั้นหรือไม่ และด้วยภาพรวมการลงทุนจากที่เริ่มทำผลการศึกษาเมื่อปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีเหตุการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ภาพการลงทุนจึงเปลี่ยนไป จากการทำประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง พบว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโต แต่ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนจีนจากผู้ซื้อเปลี่ยนมาเป็นผู้ผลิตเองขายเอง เมื่อภาพมันเปลี่ยนย่อมต้องทบทวนผลการศึกษาใหม่
นอกจากนี้ ยังเตรียมคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลวและพื้นที่หลังท่า คาดว่าจะเสร็จภายในกันยายน 2567 อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) อาจล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมบ้าง แต่ทั้งหมดจะยังคงแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2569 ถึงต้นปี 2570

สำหรับช่วงที่ 2 จะเป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ติดตั้งอุปกรณ์ และการบริหารจัดการท่าเรือบริการสินค้าเหลวบนพื้นที่แปลง A บนเนื้อที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่าประมาณ 814 เมตร และพื้นที่แปลง C บนเนื้อที่ 150 ไร่ (มีเฉพาะพื้นที่หลังท่า) สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ และเมื่อท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เปิดให้บริการเต็มศักยภาพ จะสามารถรองรับสินค้ากลุ่มน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าเหลว

น้ำสำรอง 1.18 ล้าน ลบ.ม./วัน

การเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำในภาคอุตสาหกรรมนั้น ได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำในพื้นที่ EEC มีความต้องการน้ำที่ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ลบ.ม./วัน) โดยมีน้ำสำรอง 1.18 ล้านลบ.ม./วัน ขณะที่ภาคเกษตรมีสิทธิใช้น้ำก่อนภาคอุตสาหกรรม โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่ง อยู่ที่ระดับร้อยละ 52.05 คาดว่าเพียงพอจนถึงฤดูฝน

อย่างไรก็ตาม กนอ.ยังเตรียมแผนรับมือภัยแล้งไว้ด้วย โดยมีสระพักน้ำดิบ 1.6 แสน ลบ.ม./วัน สูบน้ำจากคลองน้ำหู คลองทับมา 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สามารถผลิตน้ำรีไซเคิล 5,000 ลบ.ม./วัน ซื้อน้ำจากเอกชน 125,000 ลบ.ม./วัน และที่สำคัญ กนอ.ยังรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด โดยวิธีลดน้ำสูญเสีย และนำหลักการ 3R (Reduce Reuse Recycle) มาใช้ด้วย

อ่านข่าวต้นฉบับ: วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ กนอ. ขับเคลื่อน ศก.ประเทศ ไม่แสวงหากำไร

อ่านเพิ่มเติมได้ที่…วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ กนอ. ขับเคลื่อน ศก.ประเทศ ไม่แสวงหากำไร
ที่มา : Prachachat.net/economy

Leave a Reply

Your email address will not be published.