April 21, 2024

“อมตะ วีเอ็น” ฝ่าคู่แข่ง 400 นิคม ดันรายได้ ปี’67 โต 40%

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

อย่างที่ทราบกันดีว่า นักลงทุนต่างชาติเริ่มให้ความสนใจและหันไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีของเวียดนามที่มีจำนวนมากกว่า 50 ฉบับ และอาศัยจุดแข็งการเป็นตลาดสินค้าและตลาดแรงงานขนาดใหญ่เกือบ 100 ล้านคน

แต่นั่นนับได้ว่าเป็นโอกาสให้กับกลุ่มอมตะ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม มาตั้งแต่ปี 2555 จนปัจจุบันมีนิคม 4 แห่งใน 3 จังหวัด คือ กวางหนิง ดองไน และกวางจิ ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 เฮกตาร์ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “สมหะทัย พานิชชีวะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) ถึงทิศทางการลงทุนในเวียดนาม ปี 2567

ภาพการลงทุนในเวียดนาม

“ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปจำนวนมาก ปีก่อน มากถึง 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่กว่าเราเยอะ และมาจากหลายประเทศ จีน และยังมียุโรป และอเมริกาก็เข้า หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไป Visit ทำให้เขาวางเป้าหมายจะเป็นฮับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะมีความแข็งแรงด้วยคนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และยังมีแร่หายาก (แรร์เอิร์ท) ที่เป็นตัวช่วย”

ส่วนแนวทางดึงดูดการลงทุนของเวียดนามนั้นจะไม่ได้วางกรอบว่าเน้นส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอะไร ดึงการลงทุนอุตสาหกรรมอะไร แต่จะบอกว่าการส่งเสริมการลงทุนใดๆ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของทำเล เพราะประเทศเวียดนามมีขนาดใหญ่มาก สามารถรับการลงทุนได้ทุกอุตสาหกรรม

เร่งแก้ความท้าทายนักลงทุน

ปัญหาไฟดับของเวียดนาม เกิดที่ภาคเหนือซึ่งใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนเป็นหลัก แต่กลางปีนี้ถ้าเป็นไปตามแผนงาน คือจะมีกริด (สายส่ง) วิ่งจากภาคใต้ขึ้นไปภาคเหนือ ขนาด 500 KV ปัญหานี้จะคลี่คลาย

ส่วนประเด็นเรื่องจีโอโพลิติกส์ สำหรับนักลงทุนที่ตัดสินใจไปลงทุนในเวียดนามไม่มีผลกระทบอะไร เพราะด้วยความที่สหรัฐไม่ต้องการให้จีนกลืน จึงเข้ามาสนับสนุนเวียดนามอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ก็มีการขยายการลงทุนเข้ามาเช่นกัน เพราะเวียดนามมีชายแดนติดจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่

“นโยบายด้านการดึงดูดการลงทุนของเวียดนามถือว่าการดำเนินนโยบายมีความมั่นคง แข็งแกร่งมากที่สุด โดยโฟกัสชัดเจนว่าประเทศต้องการอะไร ก็มีการดำเนินนโยบายไปทิศทางเดียวกัน เช่น การไปทำเอฟทีเอก็มีความรวดเร็ว 60 ประเทศแล้ว และค่าแรงก็ถูกกว่า การดูแลเงินเฟ้อทำได้ดีมาก จากที่เคย 13% ตอนนี้เหลือ 4% รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายลดเงินเฟ้อได้ทันทีโดยการใช้ยาแรง”

โอกาสธุรกิจนิคมในเวียดนาม

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมถูกมองว่าเป็นธุรกิจด้านสาธารณูปโภคที่จะสร้างการพัฒนาให้กับประเทศ จึงได้มีนโยบายที่ให้การสนับสนุนเป็นลำดับต้น ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม จากภาพความน่าสนใจในการลงทุนในเวียดนาม จึงทำให้ภาพการแข่งขันในธุรกิจนิคมของเวียดนามสูงขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการลงทุนนิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 400 นิคม ซึ่งหลัก ๆ จะมาจากการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศมีประมาณ 4-5 รายใหญ่ ในส่วนของไทยมีอมตะเป็นหนึ่งในสองรายที่เข้าไปลงทุน ส่วนที่เหลือจะเป็นญี่ปุ่น 2 ราย

แผนอมตะเวียดนามปีนี้

ในช่วง 3 ปีนี้ มุ่งจะพัฒนาและทำตลาดนิคมที่มีทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง 4 นิคม ถือว่าเต็มมือที่ต้องขาย และยังต้องพัฒนาสาธารณูปโภคที่ทำเองทั้งหมด

ส่วนแผนการขยายโครงการใหม่ ๆ ยังคงต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่ โดยการวางแผนพัฒนาโครงการใหม่ ๆ จะต้องใช้เวลา 3-5 ปี โดยเฉพาะกระบวนการขออนุญาตและการออกเอกสารต่าง ๆ

กลยุทธ์ดึงลงทุน 3 นิคม

แผนการดึงดูดนักลงทุนของอมตะ มีการวางแนวทางว่า ภาคใต้เน้นไฮเทค ภาคเหนือได้ทุกอุตสาหกรรม แต่ลูกค้าที่มามักจะเป็นออโตพาร์ท อิเล็กทรอนิกส์ โรบอต ยังไม่มีคอนซูเมอร์โปรดักต์ หรือเกษตร ส่วนนิคมภาคกลางเน้นรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเยอะ ราคาถูก ๆ

ฉะนั้น ในเวียดนาม ทั้ง 4 นิคมจะมีราคาแตกต่างกัน โดยภาคใต้เน้นพรีเมี่ยมราคาสูง ภาคเหนือระดับราคากลาง ๆ และภาคกลางราคาถูกที่สุด

จุดแข็งเชื่อมระบบโลจิสติกส์

จุดเด่นที่สำคัญอีกด้านของนิคม คือ ความสะดวกในด้านการเชื่อมโยงการขนส่งโลจิสติกส์ โดยเฉพาะนิคมในภาคใต้และภาคกลางห่างจากท่าเรือน้ำลึกประมาณ 30 กม. และห่างจากสนามบิน 30-35 กม. โดยเฉพาะนิคมลองถั่น ห่างสนามบินลองถั่นแค่ 10 กม.

ส่วนนิคมในภาคกลางที่เป็นนิคมใหม่ ซึ่งไม่ได้ติดกับเมืองใหญ่ แต่เป็นทำเลที่คาดหวังว่าจะใกล้กับท่าเรือน้ำลึกในอนาคต

เป้าการขายเติบโต 20-40%

ปีนี้ตั้งเป้าหมายการขายให้เติบโต 20-40% ของมูลค่าสุดท้าย ซึ่งเทรนด์การลงทุนในปีนี้ นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามก็มุ่งลงทุนในนิคมที่สามารถจัดหาพลังงานหมุนเวียนให้ได้ ซึ่งทางนิคมต้องเตรียมพร้อม

โดยเวียดนามมีความเข้มแข็งด้านพลังงานลม แต่ยังอยู่ระหว่างการรอความชัดเจนว่า รัฐบาลจะอนุญาตให้ Direct Power Agreement เช่น ทำโซลาร์ฟาร์มไม่ได้อยู่ในนิคม ก็ต้องส่งไฟฟ้ามา ผู้ผลิตต้องการขายไฟโดยตรงให้กับโรงงาน โดยผ่านกริดของ EVN โดยไม่ต้องมาทำโซลาร์ใกล้ ๆ ซึ่งคาดว่าปีนี้น่าจะเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลเวียดนามฟังเสียงนักลงทุน และจากการที่รัฐบาลไปประชุมที่กลาสโกว์ ซึ่งได้มีการประกาศเรื่อง การเป็นคาร์บอนนิวทรอล ในปี 2050 ทำให้ทุกภาคส่วนมุ่งดำเนินการไปในทิศทางนั้น

อ่านข่าวต้นฉบับ: “อมตะ วีเอ็น” ฝ่าคู่แข่ง 400 นิคม ดันรายได้ ปี’67 โต 40%

อ่านเพิ่มเติมได้ที่…“อมตะ วีเอ็น” ฝ่าคู่แข่ง 400 นิคม ดันรายได้ ปี’67 โต 40%
ที่มา : Prachachat.net/economy

Leave a Reply

Your email address will not be published.