May 6, 2024

จ่อประมูลโละสต๊อกข้าวจำนำ 10 ปี ‘ธนสรรไรซ์-นครหลวง’ สนซื้อราคาสูงกิโล 15 บาท

อคส. เปิดข้อมูลสต๊อกสินค้าเกษตรของรัฐเหลือเพียงข้าวในโครงการจำนำ 1.4 แสนกระสอบ มันสำปะหลัง-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ระบายหมดแล้ว ล่าสุด “ภูมิธรรม” นำ ตัวแทนโรงสี ผู้ส่งออก พิสูจน์ข้าว 10 ปี การันตีคุณภาพก่อนเปิดประมูล พฤษภาคม 2567 นี้ หากหมดจะไม่มีสินค้าเกษตรในโครงการรัฐแล้ว ด้านเอกชนสนใจร่วมประมูลยืนยันข้าวยังดี

วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 รายงานข่าวจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ระบุว่า สต๊อกสินค้าเกษตรภายใต้การดูแลของรัฐบาล ปัจจุบันยังคงเหลือเพียง ข้าวในโครงการรับจำนำปี 2556/2557 จ.สุรินทร์

1. คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2557 ถึง 10 มีนาคม 2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 2 เดือน รวมปริมาณทั้งสิ้น 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบจาก 24 โรงสี และได้มีการระบายข้าวสารแล้ว 3 ครั้ง คงเหลือ 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ

2. คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2557 ถึง 29 เมษายน 2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 7 วัน มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ จาก 6 โรงสี ซึ่งระบายข้าวสารแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ

ขณะที่ สินค้าเกษตรตัวอื่น เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ระบายออกหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่เหลือค้างในสต๊อกรัฐบาล รวมไปถึงการได้ดำเนินคดี เช่น มันสำปะหลัง 205 คดี อคส. ชนะ 92 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 6,257 ล้านบาท และแพ้ 5 คดี ต้องจ่าย 62 ล้านบาท

ข้าวโพด 12 คดี อคส.ชนะ 3 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 278 ล้านบาท และไม่แพ้คดีเลย 5.โครงการรัฐก่อนปี 2551 จำนวน 49 คดี อคส.ชนะ 12 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 43 ล้านบาท และแพ้ 1 คดี ทุนทรัพย์ที่ต้องจ่าย 39 ล้านบาท

คดีจำนำข้าว 280 คดี ผลการพิพากษาในชั้นศาลปกครองกลาง อคส. ชนะ 40 คดี ทุนทรัพย์ได้มา 2,680 ล้านบาท และ อคส. แพ้คดี 25 คดี ทุนทรัพย์ที่ต้องจ่าย 457 ล้านบาท

พิสูจน์ข้าว 10 ปี

ล่าสุด นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล ตามโครงการรับจำนำ ที่คลังกิตติชัย หลัง 2 อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ และ บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 ต.เฉลียง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ว่า ตนเองพร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน บริษัทเซอร์เวย์ผู้ตรวจสอบคุณภาพและรับข้าวสารเข้าคลัง สมาคมโรงสี ผู้ส่งออกข้าว อาทิ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด, บริษัท เจ.พี.ไรซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1998) จำกัด

รวมไปถึงคณะผู้สื่อข่าวร่วมเปิดโกดังที่คลังกิตติชัย หลัง 2 อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ได้เก็บตัวอย่างข้าวในโกดัง รวม 9 ตัวอย่าง มาดูลักษณะทางกายภาพและนำมาหุงให้กับบรรดากับตัวแทนและสื่อมวลชนที่ร่วมลงพื้นที่ ร่วมกันชิมข้าวสวยที่ได้จากข้าวสารในโกดังทั้ง 2 แห่ง กับกะเพราไก่ ไข่เจียว

“หลังจากพิสูจน์ครั้งนี้ ก็พร้อมที่จะเปิดประมูลเพื่อระบายข้าวออกจากโกดัง เป็นการเหมาทั้งกอง เพื่อนำเงินเข้ารัฐ โดยคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2567 จะสามารถเปิดประมูลได้ แม้จะไม่มีคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) ซึ่งหากไม่ขัดต่อเงื่อนไข ระเบียบ กฎหมาย รักษาการ ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (ผอ.อคส.) ที่ทำหน้าที่แทนก็จะสามารถดำเนินการเปิดประกาศเงื่อนไขการเปิดประมูลต่อไปได้”

อย่างไรก็ดี หากสิ้นข้อสงสัยภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะสามารถเปิดประมูลให้ทุกคนที่สนใจเข้าร่วมประมูล คาดว่าราคากลางจะอยู่ที่ 18 บาท/กก. ซึ่งราคาประมูลจะมากน้อยอยู่ที่กระบวนการ โดยจะป้องกันไม่ให้มีการละทิ้งข้าว คาดว่าจะจัดอันดับผู้ประมูลอันดับ 1-5 และมีมาตรการที่เข้มข้น หากประมูลไปแล้วไม่สามารถเอาไปได้จะมีการปรับและเลื่อนลำดับอื่นขึ้นมา โดยให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเสนอให้ชัดเจน

ซึ่งข้าว 2 โกดังนี้เป็นข้าว 2 โกดังสุดท้ายของโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่ปี 2556/2557 ร่วม 10 ปี ที่เข้าสู่โครงการจำนำข้าวในช่วงนั้น คาดว่าจะนำเงินเข้ารัฐได้ 200-400 ล้านบาท

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า คราวที่แล้วตนได้ลองชิมข้าวกับท่านผู้กำกับ แต่เมื่อทำไปแล้วมีเสียงทักว่าข้าว 10 ปีกินไม่ได้ เหมือนเล่นละคร ข้าวปีหนึ่งก็เน่าแล้ว 5 ปีก็เน่าแล้ว ปัญหาอยู่ที่การเก็บรักษา ถ้าเก็บรักษาดีก็สามารถดูแลได้ ถ้าเก็บไม่ดีไม่ต้อง 5 ปี หนึ่งปีก็เน่าแล้ว ครั้งนี้อยากทำให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจนสิ้นข้อสงสัย จึงเชิญสื่อมวลชนทุกแขนง เจ้าของโรงสี ผู้ส่งออก ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้การจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้ จากการสังเกต ข้าวจำนวน 112,711 กระสอบ และที่พูนผลเทรดดิ้ง 32,879 กระสอบ รวมประมาณ 150,000 กระสอบ เป็นข้าวปี 2556/2557 ถึงวันนี้ก็ 10 ปีพอดี เป็นข้าวที่เก็บรักษาอย่างดี เจ้าของโรงสี เจ้าของโกดังรมยาตามมาตรฐาน ปิดโกดังแน่นหนา ไม่มีนกเข้า ไม่มีฝนตกที่ทำให้ข้าวเสีย

โดยโรงสีทั้งสองเก็บรักษาอย่างดี โรงสีกิตติชัยรมยาทุก 2 เดือน โรงสีพูนผลรมยาทุกเดือน ที่แจ้งข้าวมีปัญหา ข้าวบูด ข้าวเน่า คือการเก็บรักษาที่ไม่ดี

เจ้าของโกดัง

นางสาวทิชาภา อ่าวพัฒนา เจ้าของโกดังกิตติชัย กล่าวว่า โกดังได้ปฏิบัติตามที่ อคส. (องค์การคลังสินค้า) สร้างมาตรฐานไว้ โดย 1. ดูความเรียบร้อยของคลังไม่ให้เกิดน้ำรั่ว ถ้าเกิดน้ำรั่วจะทำให้ข้าวเน่าเสีย 2. ต้องรมยาทุก 2 เดือน และ 3. จำนวนกระสอบห้ามหาย ซึ่งมีการประมูลออกมาแล้ว 2 ครั้ง จากเดิมมีข้าวประมาณ 400,000 กระสอบ ตอนนี้เหลือ 110,000 กระสอบ

ที่ผ่านมาการประมูลในแต่ละรอบราคาก็คือข้าวบริโภคเลย ซึ่งข้าวในโกดังมีการคัดกรองให้ได้ข้าวหอมมะลิคุณภาพตามมาตรฐาน เมื่อเดือนที่แล้วได้มีการเปิดคลังทดลองชิมไปเรียบร้อยยังบริโภคได้

อย่างไรก็ดี เห็นว่าต้องการเร่งระบายข้าว ในโครงการรับจำนำให้แล้วเสร็จ เนื่องจากเป็นต้นทุนและมีค่าเสียโอกาส ที่ไม่สามารถนำคลังสินค้าไปทำอย่างอื่นได้ ทั้งนี้ โกดังยังคงติดปัญหาคดีกับ อคส. ซึ่งต้องการเรียกร้องให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้มีเงินค่าเช่ามาหมุนเวียนทำธุรกิจ เพราะปัจจุบันยังมีค่าเช่าโกดังประมาณ 60 ล้านบาทที่ อคส.จะต้องจ่าย โดยยังไม่รวมเงินประกัน ค่ารมยาด้วย

ผู้ส่งออกพร้อมซื้อ

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า มาร่วมพิสูจน์ข้าวในครั้งนี้ด้วย จากที่เห็นด้วยตามองว่าข้าวยังมีคุณภาพดี และสนใจหากมีการเปิดประมูลก็พร้อมที่จะเข้าร่วมโดยคาดว่าราคาไม่น่าจะต่ำกว่า 15-20 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะประมูลเพื่อการบริโภค ซึ่งช่องทางขายจะส่งออกไปตลาดแอฟริกา เนื่องจากสนใจข้าวเก่าของไทย รวมไปถึงขายในประเทศโดยจะดูว่าคุณภาพที่ได้และมีการคัดแล้ว จะสู่ตลาดบริโภคหรืออาหารสัตว์

“หากเปิดประมูลก็พร้อมที่ยื่นซองเข้าร่วม เพราะเชื่อว่าน่าจะทำตลาดได้ ตลาดหลักที่จะส่งออกไปเป็นตลาดแอฟริกาเป็นหลัก หลังจากที่ได้ก็น่าจะปรับปรุงพอสมควร โดยค่าปรับปรุงประมาณ 300-400 บาทต่อตัน”

ขณะที่ ตัวแทนจากบริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัดเองก็ให้ความสนใจพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลเช่นกันหากมีการเปิดประมูลข้าว

อ่านข่าวต้นฉบับ: จ่อประมูลโละสต๊อกข้าวจำนำ 10 ปี ‘ธนสรรไรซ์-นครหลวง’ สนซื้อราคาสูงกิโล 15 บาท

อ่านเพิ่มเติมได้ที่…จ่อประมูลโละสต๊อกข้าวจำนำ 10 ปี ‘ธนสรรไรซ์-นครหลวง’ สนซื้อราคาสูงกิโล 15 บาท
ที่มา : Prachachat.net/economy

Leave a Reply

Your email address will not be published.