April 20, 2024

อสังหาฯขานรับมาตรการรัฐ ปฏิรูปโครงสร้าง-โอบอุ้มผู้มีรายได้น้อย

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

พุทธศักราช 2567 สำหรับวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กล่าวได้ว่าเป็นปีที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้ออกมาตรการรัฐที่ไม่เพียงแต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอสังหาฯ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในภาพใหญ่

โดยมาตรการรัฐ ทั้งมติคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง วันที่ 21 มีนาคม 2567 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 เมษายน 2567 เป็นเข็มทิศที่นำทางให้วงการอสังหาฯ ก้าวไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างครั้งสำคัญอีกครั้ง

ย้อนรอย “รัฐบาลประยุทธ์”

ก่อนหน้านี้ ในปี 2562 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันจนสามารถบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 สำเร็จ เพื่อมาทดแทนกฎหมายล้าสมัย 2 ฉบับ คือ กฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ กับกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ทั้งนี้ ภาษีที่ดินฯ มีอีกชื่อหนึ่งว่า Property Tax เมื่อบังคับใช้แล้วเป็นการปฏิรูปโครงสร้างวงการอสังหาฯ เพราะเป็นกฎหมายที่เจ้าของทรัพย์สิน “ทั้งรักทั้งชัง”

ในทางหนึ่งเป็นกฎหมายที่นำรายได้ภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทางหนึ่งเป็นกฎหมายที่จัดเก็บภาษีรายปี (ต้องจ่ายทุกปี) จากผู้ถือครองทรัพย์สิน ฉะนั้น ถ้าไม่อยากจ่ายพร็อพเพอร์ตี้แทกซ์ ก็ไม่ต้องถือครองทรัพย์สิน ง่าย ๆ แบบนั้นเลย

โดยที่พร็อพเพอร์ตี้แทกซ์ มีจุดเริ่มต้นพยายามผลักดันตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2537 แต่มาสำเร็จในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2562 ดังกล่าว

เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่แข็งแรง

อัพเดตล่าสุด มาตรการรัฐประจำปี 2567 เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงขานรับรอบทิศทางจากคนในวงการอสังหาฯ หัวขบวนใหญ่สุดมาจากฟากของ 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้มีหนังสือขอบคุณรัฐบาลเศรษฐาอย่างเป็นทางการ

นำโดย “อิสระ บุญยัง” ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, “วสันต์ เคียงศิริ” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, “พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมอาคารชุดไทย, “พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

“โอฬาร จันทร์ภู่” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน, “ปรีชา ศุภปีติพร” นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ “ประวิทย์ อนุศิริ” นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย

7 องค์กรขอบคุณที่รัฐบาลตอบรับและออกมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่แข็งแรง รายละเอียดดังนี้

เฮรับลดโอน-จำนอง 7 ล้าน

1.มาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% เดิมมีเพดานไม่เกิน 3 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 7 ล้านบาท มาตรการนี้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดค่าโอนและจดจำนอง มิใช่เป็นเพียงการกระตุ้นภาคอสังหาฯเท่านั้น เนื่องจากที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท มีสัดส่วนเกิน 85% ของการซื้อขายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งมือหนึ่งและมือสอง

จะส่งผลดีต่อธุรกิจเชื่อมโยงต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง การจ้างแรงงาน เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์การตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า การใช้สาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา อีกทั้งเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ในการจำหน่ายหลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยออกไปได้ง่ายขึ้น

มาตรการดังกล่าว แม้ว่าจะดูเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ก็เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวอยู่

มาตรการรัฐฝนตกทั่วฟ้า

2.มาตรการนำเงินว่าจ้างก่อสร้างบ้านบนที่ดินตนเอง มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 1 แสนบาท นอกจากช่วยกระตุ้นตลาดบ้านสร้างเอง (นอกโครงการจัดสรร) รัฐบาลยังสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของการซื้อวัสดุก่อสร้างในการก่อสร้างบ้าน และผู้รับจ้างสร้างบ้านต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลอีก 20% (แล้วแต่กรณี)

ประเด็นสำคัญ จูงใจให้ธุรกิจรับสร้างบ้านทั้งประเภทบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ต้องเข้าสู่ระบบการเสียภาษีมากขึ้น เพราะเจ้าของบ้านต้องเลือกสร้างบ้านกับผู้ประกอบการที่เข้าระบบภาษีและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

3.มาตรการขยายวงเงินสินเชื่อบ้านล้านหลัง จาก 1.5 ล้านบาทเป็น 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% กรณีนี้เป็นผลดีอย่างมากต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย สามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินลงได้ เนื่องจากดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนลดลง

ประกอบกับประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัย ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมด้วย

4.จูงใจให้มีการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยใช้หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากเดิมให้สร้างขายในราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ขยับเป็นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

มาตรการนี้ได้ 2 เด้ง จาก 4.1 มีส่วนผลักดันสำคัญให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้กำลังซื้อตลาดแมสไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีตัวเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลและราคาที่ต้องการได้มากขึ้น

4.2 เป็นการแบ่งเบาภาระหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง

อสังหา กทม.

ปลดล็อกเช่าเกิน 30 ปี

5.มาตรการขยายเวลาเช่าเกิน 30 ปี และกำหนดให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ (Real Right) ถือเป็นการวางโครงสร้างการอยู่อาศัยและการใช้ที่ดินในระยะยาวของประเทศ เนื่องจากไทยมีการส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ความต้องการความมั่นคงเรื่องสิทธิการเช่าจึงต้องตามมาด้วย

ในขณะเดียวกัน การขยายเวลาเช่ายังเป็นประโยชน์ต่อผู้เช่าซึ่งเป็นคนไทยด้วย เนื่องจากที่ดินที่อยู่ในเขตเมืองจำนวนมาก ทั้งที่ดินหน่วยงานรัฐ หรือที่ดินเอกชนที่ไม่ประสงค์ขาย แต่ต้องการให้เช่า

การขยายเวลาเกิน 30 ปี และให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ จะก่อให้เกิดความมั่นคงในเรื่องเวลา ที่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ และมีความคุ้มทุนในทรัพย์สินที่เช่าตลอดช่วงอายุสัญญา และแก้ปัญหาการถือครองอสังหาฯโดยไม่ถูกต้องของชาวต่างชาติด้วย

ปรับปรุงนิยามบ้านจัดสรร

6.การขอลดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรร ประกอบด้วย “บ้านเดี่ยว” เดิมที่ดินเริ่มต้น 50 ตารางวา ปรับเป็น 35 ตารางวา “บ้านแฝด” จากที่ดินเริ่มต้น 35 ตารางวา เป็น 28 ตารางวา และ “ทาวน์เฮาส์-อาคารพาณิชย์” จากเริ่มต้น 16 ตารางวา เป็น 14 ตารางวา

คำอธิบายคือ การลดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรรลงมา มีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและขนาดครอบครัวที่เล็กลง เพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนได้มากขึ้น เป็นผลดีต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้นจากระดับราคาที่ลดลง

ประเด็นนี้ “คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง” ได้มีมติรับหลักการไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์มีความเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรี 9 เมษายน 2567 และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการกระตุ้นธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคสถาบันการเงินด้วย

พร้อมกันนั้น จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของที่อยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศในระยะยาวต่อไป ส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และภาคการลงทุนอื่น ๆ รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป

อุ้มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง

“พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กล่าวว่า มาตรการรัฐ 5 ข้อตามมติ ครม. 9 เมษายน จะช่วยเพิ่มมูลค่าการซื้อขายอสังหาฯได้ 8 แสนล้านบาท

อีกทั้งมีการลงทุนอีก 4-5 แสนล้านบาท กระตุ้นการใช้จ่าย 1.2 แสนล้านบาท จากมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน

ทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันจีดีพีให้ขยายตัวเพิ่มอีก 1.7-1.8% โดยมาตรการที่จะเห็นผลชัดเจน เป็นเรื่องขยายเพดานลดค่าโอน-จดจำนอง จากไม่เกิน 3 ล้านเป็น 7 ล้านบาท ส่งผลต่อการเร่งตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในสภาวะตลาดทรงตัว และผู้มีรายได้น้อยสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของตนเองได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ธอส.ผนึก BOI หนุนเอกชน

“กมลภพ วีระพละ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ร่วมมือกับ BOI ในการเป็นหน่วยงานกลาง เชื่อมโยงข้อมูลด้านต่าง ๆ ระหว่าง BOI กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ

รวมถึง ธอส. จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการอสังหาฯแต่ละราย เพื่อออกหนังสือรับรอง ก่อนนำไปยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับ BOI ภายในสิ้นปี 2568 โดย ธอส.จะเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ แจ้งความประสงค์ขอรับบัตรส่งเสริมลงทุน ทาง www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

“ปัจจุบันประชาชนเลือกซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1.5 ล้านบาทได้ยากขึ้น เนื่องจากต้นทุนก่อสร้าง และปัจจัยต่าง ๆ ทำให้บริษัทอสังหาฯไม่สามารถทำราคาได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่ามาตรการรัฐที่ออกมารอบนี้ จะเป็นแรงจูงใจทำให้มีที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เพิ่มมากขึ้นในตลาด ส่งผลดีกับผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสในการมีบ้านมากขึ้น”

ดึงธุรกิจรับสร้างบ้านเข้าระบบ

“โอฬาร จันทร์ภู่” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน หรือ HBA-Home Builder Association กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการ “สร้างบ้านลดหย่อนภาษี ล้านละหมื่น” สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง เอกสารอากรแสตมป์ (อ.ส.5) ที่มีมูลค่าการก่อสร้างบ้าน 1 ล้านบาท สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2568

ได้สร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญต่อภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในไตรมาส 2/67 และนับเป็นครั้งแรกของธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่ได้รับมาตรการลดหย่อนภาษีปลูกสร้างบ้านบนที่ดินตนเอง

“ตลาดบ้านสร้างเอง มีมูลค่ารวมปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งไตรมาส 1/67 กำลังซื้อจำนวนไม่น้อยชะลอการตัดสินใจอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ มาตรการลดหย่อนภาษี 1 แสนบาทสำหรับบ้านสร้างเอง จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2/67 กลับมาคึกคักอีกครั้ง และส่งผลดีไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น วัสดุก่อสร้าง การจ้างงาน”

ประโยชน์ต่อรัฐ เป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสร้างบ้านที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ทำการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเข้าสู่ระบบภาษี ส่งผลให้รัฐได้ VAT 7% และภาษีจากเงินได้นิติบุคคล ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม

อย่างไรก็ดี มาตรการนี้มีเวลาระยะสั้น จึงมีข้อเสนอว่ารัฐบาลควรออกเป็นมาตรการถาวร เหมือนกับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อประกันชีวิต และลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงสุด 1 แสนบาท

ตัวทวีคูณสามเท่า 17% ต่อจีดีพี

“อภิชาติ เกษมกุลศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2564 ระบุภาคอสังหาฯ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ก่อสร้าง ภาคการเงิน ธุรกิจโฆษณา และบริการให้เช่าที่อยู่อาศัย มีสัดส่วน 9.8% ของจีดีพี มีการจ้างงาน 2.8 ล้านคน และมีการใช้วัตถุดิบในประเทศหรือโลคอลคอนเทนต์มากกว่า 80%

ขณะที่ปี 2566 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 1.016 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ณ 5.67% ของจีดีพี เมื่อคำนวณผลทวีคูณจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 3 เท่า ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2566 ประมาณ 3.048 ล้านล้านบาท สัดส่วน 17% ของจีดีพีในปี 2566

ดังนั้น การกระตุ้นภาคอสังหาฯไม่ใช่การช่วยผู้ประกอบการอสังหาฯ แต่เป็นการสร้างฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโต โดยประเมินว่า ทุก ๆ 1% ของการเติบโตของภาคอสังหาฯ จะมีผลต่อการเติบโตของจีดีพีไม่น้อยกว่า 0.06%

“ผมเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่ออกมาจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โฟกัสสินเชื่อและบ้าน BOI ทำให้คนไทยมีบ้านที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ซึ่ง LPN พร้อมสนับสนุนมาตรการรัฐ โดยเฉพาะการสร้างบ้านบีโอไอ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้คนไทยมีบ้าน”

สร้างบ้าน
ภาพจาก : freepik

ธนาสิริ กรุ๊ปจัดโปรฯออนท็อป

“จรัญ เกษร” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ (COO) บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาสิริในฐานะเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ พร้อมขานรับมาตรการรัฐ ด้วยการเสริมกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าพร้อมอยู่ และกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีแผนซื้อบ้านภายในปีนี้

โดยจัดโปรโมชั่นเพิ่มเติม On Top x2 Gift Voucher สูงสุด 1 ล้านบาท นอกเหนือจากฟรีแอร์ทั้งหลัง ฟรีค่าส่วนกลาง 2 ปี และส่วนลดพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย ในทุกโครงการของธนาสิริ

โดยบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จะได้รับส่วนลด x2 และบ้านราคาเกิน 7 ล้านบาท ยังคงได้รับส่วนลดที่จัดไว้ให้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของมาตรการรัฐก็ตาม

ดัชนีเชื่อมั่นจัดสรรพุ่งแรง

สุดท้าย “ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการ ธอส. รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ระดับ 48.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าระดับ 50 แต่เป็นค่าดัชนีต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ระดับ 50 ต่อเนื่องถึง 5 ไตรมาส

โดยเป็นการขาดความเชื่อมั่นด้าน “ยอดขาย ผลประกอบการ ต้นทุนดำเนินงาน” โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม Nonlisted Company

แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนที่อยู่ในระดับ 57.3 ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ 5 มาตรการ จะช่วยเพิ่มระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2567

ทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาโครงการใหม่ ยอดขาย และผลประกอบการ อย่างแน่นอน

อ่านข่าวต้นฉบับ: อสังหาฯขานรับมาตรการรัฐ ปฏิรูปโครงสร้าง-โอบอุ้มผู้มีรายได้น้อย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่…อสังหาฯขานรับมาตรการรัฐ ปฏิรูปโครงสร้าง-โอบอุ้มผู้มีรายได้น้อย
ที่มา : Prachachat.net/property

Leave a Reply

Your email address will not be published.