May 11, 2024

TCP เชื่อชูกำลังยังไปได้ ลุยล้างภาพลบ-ส่ง “สปอนเซอร์” รุกต่างประเทศ

สัมภาษณ์

วันนี้แม้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังจะยังไม่กลับไปเติบโตเทียบเท่าเมื่อช่วงปลายปี 2562 ก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งช่วงนั้นตลาดรวมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดตลาดก็กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับคืนทีละน้อย ๆ มูลค่าตลาดรวมคาดน่าจะขยับขึ้นมาอยู่ในระดับ 2.4-2.5 หมื่นล้านบาท

ที่น่าสนใจอีกมุมหนึ่งก็คือ ที่ผ่านมา แม้ว่าต้นทุนการดำเนินงานและวัตถุดิบต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่วันนี้เครื่องดื่มชูกำลังก็ยังราคาขายเพียงขวดละ 10 บาท เรียกได้ว่าแทบไม่มีกำไร ซึ่งคนในวงการต่างก็ยอมรับว่าตลาดนี้มีการแข่งขันสูง และยังมีแบรนด์ใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาร่วมวงเป็นระยะ ๆ

กระทิงแดงมั่นใจชูกำลังโตได้อีก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP หรือ ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม ผู้ผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง สปอนเซอร์ ฯลฯ ในงานเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ TCP Legacy Museum ถึงแนวโน้มตลาดชูกำลังไทย และทิศทางของ TCP ที่จะสร้างการเติบโตท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆในตลาด

“สราวุฒิ” กล่าวว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง หรือเอเนอร์จี้ดริงก์ของไทย ยังมีโอกาสเติบโตต่อได้อีกในอนาคต หากสามารถแก้โจทย์ทั้งเก่าและใหม่ที่เป็นความท้าทายของตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพุ่งสูง หลังปี 2566 ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 10% จากราคาน้ำตาล, เพดานราคา 10 บาท/ขวด, สภาพเศรษฐกิจที่กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค, การแข่งขันราคาดุเดือด และอัตราการบริโภคที่ยังต่ำเพียง 1-1.5 ขวด/คน/วัน ตามสถิติของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการเครื่องดื่มให้พลังงาน เห็นได้จากการเติบโต 4-5% ในไตรมาสแรก เพียงแต่แบรนด์ต้องก้าวข้ามกรอบเครื่องดื่มชูกำลังราคา 10 บาท แบบเดิมให้ได้ สะท้อนจากการเติบโต 10-20% ของเครื่องดื่มชูกำลังพรีเมี่ยมราคาสูงกว่า 12 บาทในไทย เทรนด์โพสโชว์การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังบนโซเชียล และรายได้จากต่างประเทศอย่าง เวียดนาม จีน ฯลฯ ที่เติบโตและแทบไม่มีการแข่งขันราคา จากเทรนด์การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังในหลายโอกาส เช่น งานสังสรรค์ คอนเสิร์ต ดื่มเพื่อความสดชื่น ฯลฯ ทำให้การบริโภคสูงกว่าไทย รวมถึงจำหน่ายได้หลายระดับราคา

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้โจทย์ความท้าทายเหล่านี้ บริษัทจะเดินหน้าใน 3 ด้านหลัก คือ ปลดล็อกตลาดชูกำลังของไทยจากเพดานราคา 10 บาท ซึ่งเป็นกระบวนการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาปรับความเข้าใจที่อยู่ในใจคนไทยมาหลายสิบปี ขณะเดียวกันก็จะต้องรับมือความท้าทายปัจจุบันอย่างต้นทุนวัตถุดิบ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มศักยภาพการผลิตลดการสูญเสีย และสร้างรายได้เพิ่มจากตลาดต่างประเทศไปพร้อมกัน

โดยการปลดล็อกเพดานราคา 10 บาทนั้น แม่ทัพ TCP ระบุว่า จะเดินหน้าพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ แตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ของผู้บริโภค เช่น สูตรอัดแก๊สให้มีความซ่าแบบน้ำอัดลม สูตรไร้น้ำตาลรับเทรนด์สุขภาพ รสชาติใหม่ ๆ รวมถึงเปลี่ยนแพ็กเกจเป็นกระป๋อง และอื่น ๆ เพื่อให้ต่างจากภาพลักษณ์ขวดแก้ว และเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ ได้

ทั้งนี้ เชื่อว่าเพดานราคา 10 บาท นั้นไม่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาเงินทอนแล้ว เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคและร้านค้าต่างใช้การชำระเงินด้วย QR Code จึงเชื่อว่าการตั้งราคาเครื่องดื่มชูกำลังด้วยตัวเลขอื่นสามารถเป็นไปได้ หากสามารถสร้างความคุ้มค่าให้กับผู้บริโภคได้

พร้อมกับให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดื่มชูกำลัง เช่น ปริมาณกาเฟอีน/ขวด ที่น้อยกว่ากาแฟ 1 แก้ว สอดแทรกไปกับแคมเปญต่าง ๆ และล่าสุดเปิดตัว TCP Legacy Museum พิพิธภัณฑ์รวมประวัติศาสตร์ของ TCP และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเครื่องดื่มชูกำลัง ผ่านการนำเสนอแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดปราจีนบุรี ไปพร้อมกันด้วย โดยตั้งอยู่ที่โรงงาน บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

เพิ่มดีกรีบุกต่างประเทศ

ด้านการสร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศนั้น จะผลักดันแบรนด์สินค้าในพอร์ตโฟลิโอออกไปทำตลาดในต่างประเทศ เช่น สปอนเซอร์ ที่จะเพิ่มจำนวนประเทศและสินค้าใหม่ ๆ หลังเริ่มรุกเมียนมาและลาวไปแล้ว หรือส่งแบรนด์ วอริเออร์ ที่เดิมทำตลาดในเวียดนาม ไปบุกมาเลเซียด้วย เป็นต้น โดยจะผลักดันแบรนด์อื่น ๆ ตามออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย และจีน

ส่วนแบรนด์กระทิงแดง-เรดบูล จะขยายโรงงานในจีนตามแผนเดิมที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ในมณฑลเสฉวน ที่จะเปิดเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะมีกำลังผลิตรวม 1.44 พันล้านกระป๋อง/ปี และโรงงานใหม่ที่มณฑลกว่างสี คาดว่าจะเปิดปี 2568

สำหรับการรับมือต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน และค่าแรง จะนำเทคโนโลยีอย่าง Smart Manufacturing เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเสียลง โดยปัจจุบันเริ่มใช้ในโรงงานหมายเลข 6 ที่จังหวัดปราจีนบุรี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจาก 90% เป็น 95% ด้วยพนักงาน 6 คน/ไลน์ผลิต/กะ ซึ่งจะขยายครบทั้ง 5 ไลน์ผลิตในสิ้นปี 2567 นี้ ร่วมกับการลดแพ็กเกจจิ้งที่เป็นอีกหนึ่งต้นทุนหลักลง เช่น ลดขนาดฝา และขนาดฉลาก เช่นเดียวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยปัจจุบันการติดตั้งในโรงงานทุกแห่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 25% ของความต้องการ หลังจากนี้จะขยายการติดตั้งไปยังอาคารโกดังสินค้าด้วย

ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่ลดคุณภาพของสินค้าลงอย่างเด็ดขาด รวมถึงยังคงนโยบายจ้างงานชาวไทย 100% แม้จะมีอัตราค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ 550 บาท สำหรับฝ่ายผลิต ตามแนวทางที่ “เฉลียว อยู่วิทยา” ผู้ก่อตั้ง TCP ได้วางเอาไว้ว่า ผู้บริโภคต้องได้คุณภาพเต็มที่ และการเป็นโรงงานไทยต้องให้โอกาสกับคนไทยก่อนแม้ต้นทุนจะสูงกว่าก็ตาม

“สราวุฒิ” ทิ้งท้ายว่า ปี 2567 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตแบบท้าทายที่ดับเบิลดิจิตระดับบน หลังไตรมาส 1 สามารถเติบโตประมาณ 6-7% ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566 แต่ยังต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ ส่วนตลาดต่างประเทศอย่าง เวียดนาม จีน กัมพูชา เริ่มฟื้นตัว โดยหลังจากนี้ต้องจับตาสภาพเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคไทย และสถานการณ์ในต่างประเทศ

อ่านข่าวต้นฉบับ: TCP เชื่อชูกำลังยังไปได้ ลุยล้างภาพลบ-ส่ง “สปอนเซอร์” รุกต่างประเทศ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่…TCP เชื่อชูกำลังยังไปได้ ลุยล้างภาพลบ-ส่ง “สปอนเซอร์” รุกต่างประเทศ
ที่มา : Prachachat.net/marketing

Leave a Reply

Your email address will not be published.