May 3, 2024

ทรอยก้าพลัสเมียนมา

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ได้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดหลัง กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์นำโดย กองทัพปลดแอกแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นหน่วยทหารของ KNU เปิดฉากโจมตีที่ตั้งทางทหารของรัฐบาลเมียนมา บริเวณเมืองเมียวดี โดยการต่อสู้ยุติลงด้วยการที่ หน่วยทหารกะเหรี่ยง KNU สามารถยึดที่ตั้งทางทหารของกองทัพเมียนมา โดย “ละเว้น” ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นหากมีการเข้ายึดครอง เมืองเมียวดี จากเหตุผลที่เมืองนี้มีผลประโยชน์ทางด้านการค้า ไม่ว่าจะตกเป็นของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้าน

ผลของการสู้รบที่ เมืองเมียวดี ทำให้เกิดการอพยพของชาวเมียนมาเข้ามายังพื้นที่ปลอดภัยฝั่งชายแดน อ.แม่สอด เป็นจำนวนหลายพันคน ขณะที่อีกด้านหนึ่งการค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรอย่างเป็นทางการทั้ง 2 ฝั่งได้หยุดชะงักลงเป็นการชั่วคราว สร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก

แม้สถานการณ์ในฝั่งเมืองเมียวดีจะเริ่มเข้าสู่ความสงบ แต่นั่นเป็นความสงบหลังชัยชนะของกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แต่ก่อนที่ฤดูแล้งนี้จะสิ้นสุดลง เมืองชายแดนที่เป็นประตูการค้าชายแดนต่ำลงมาจาก เมืองเมียวดี ซึ่งเป็นพรมแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทย อาจจะเกิดการสู้รบระหว่าง กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ กับ ฐานที่ตั้งของกองทัพเมียนมา ได้

ประเทศไทยในฐานะ ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มีพรมแดนติดต่อกับเมียนมากว่า 2,000 กม.ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสู้รบบริเวณแนวชายแดน โดยการดำเนินการของรัฐบาลไทยล่าสุดได้มีการตั้ง คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ขึ้นโดยใช้คำสั่งของสภาความมั่นคงแห่งชาติ มอบหมายให้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการเฉพาะกิจชุดนี้นอกเหนือจากการติดตาม-ตรวจสอบ-ประเมิน/วิเคราะห์สถานการณ์ใน “ภาพรวม” ของสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และ ทำความเห็นข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถดำเนินการทาง “การทูตเชิงรุก” ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในเมียนมาอีกด้วย โดยการทูตเชิงรุกดังกล่าวกำลังเป็นที่จับตาของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ว่า ประเทศไทยจะมีแนวทางในการดำเนินการ “เชิงรุก” อย่างไร แต่ที่สำคัญการทูตเชิงรุกครั้งนี้จะต้องมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับ ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาเมียนมา กล่าวคือ

1) จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที 2) การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้นเพื่อหาทางออกอย่างสันติ 3) ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจา 4) อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทาง ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA) และ 5) ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยบทบาทเชิงรุกล่าสุดของประเทศไทยดูเหมือนจะถูกดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นด้านหลัก

ขณะที่ประชาคมโลกได้ให้ความสนใจปัญหา เมียนมา “น้อยมาก” เมื่อเทียบกับสงครามในภูมิภาคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีเพียงแถลงการณ์รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 ที่ได้ย้ำถ้อยแถลงประณามการรัฐประหารและยืนยันสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมา ในการแสวงหาสันติภาพ เสรีภาพ และ ประชาธิปไตย ออกมาเท่านั้น

ล่าสุดมีข้อสรุปมาจากการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาที่ว่า ไทยได้เสนอไปที่ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนเพื่อให้มีการประชุมไตรภาคีหรือ “ทรอยก้าพลัส” เปิดกว้างให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่สนใจเข้าร่วมการหารือเพื่อหาแนวทางสร้างสันติภาพในเมียนมา เช่น ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของลาวอยู่

อ่านข่าวต้นฉบับ: ทรอยก้าพลัสเมียนมา

อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ทรอยก้าพลัสเมียนมา
ที่มา : Prachachat.net/economy

Leave a Reply

Your email address will not be published.