May 3, 2024

ข้าวนึ่งอินเดียราคาถูก เบียดตลาดส่งออกไทย มี.ค. 67 ติดลบ 10.4%

ผู้ส่งออกข้าวไทยเผยมีนาคม 2567 ไทยส่งออกข้าวลดลง 10.4%  เหตุผู้ซื้อข้าวนึ่งลดลง หันไปซื้อจากอินเดียมากขึ้น เพราะถูกกว่าไทย ลุ้นเดือนเมษายนไทยได้ข้าวจีทูจีของอินโดนีเซีย ทำให้ยอดการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น

วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวของไทยในเดือนมีนาคม 2567 มีปริมาณ 716,619 ตัน ลดลง 10.4% ขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าว 17,329 ล้านบาท  ลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่การส่งออกมีปริมาณ 800,225 ตัน มูลค่า 18,531 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 การส่งออกข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ และปลายข้าวมีปริมาณลดลงจากเดือนก่อน

โดยเฉพาะข้าวนึ่งที่ในปีนี้ปริมาณส่งออกลดลงมากกว่า 50% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของประเทศผู้ซื้อลดลง ประกอบกับข้าวนึ่งของอินเดียยังคงมีราคาต่ำกว่าไทยมาก จึงทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวนึ่งจากอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของข้าวขาวยังคงมีการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณ 479,866 ตัน ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น อินโดนีเซีย โมซัมบิก อิรัก มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เบนิน เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณเพียง 41,295 ตัน ลดลง 5.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ตันข้าว) มีปริมาณ 109,448 ตัน ลดลง 4.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ แคนาดา จีน สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาคมคาดว่าในเดือนเมษายน 2567 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 800,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาที่ต้องเร่งส่งมอบข้าวให้กับผู้ซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวขาวซึ่งส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังประเทศในแถบอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แองโกลา ไอวอรีโคสต์ และตะวันออกกลาง เช่น อิรัก ประกอบกับเริ่มมีการส่งมอบข้าวให้อินโดนีเซียตามสัญญาส่งมอบแบบรัฐต่อรัฐบ้างแล้ว

ขณะที่ตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิที่สำคัญ ทั้งในภูมิภาคอเมริกา เช่น สหรัฐ แคนาดา และภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งตลาดยุโรป ยังคงนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง ประกอบกับในช่วงนี้ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่า จึงช่วยทำให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ และจูงใจให้ผู้ซื้อหันมาหาข้าวไทยมากขึ้น

โดยราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 อยู่ที่ 599 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามและปากีสถานอยู่ที่ 579-583 และ 578-582 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 602 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียและปากีสถานอยู่ที่ 537-541 และ 601-605 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ

จากข้อมูลของกรมศุลกากรการส่งออกข้าวช่วง 3 เดือนแรกของปี (มกราคม-มีนาคม 2567) มีปริมาณ 2,464,585 ตัน มูลค่า 56,730 ล้านบาท (1,611.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 19.4% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 49.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 2,063,910 ตัน มูลค่า 38,067 ล้านบาท (1,125.3 ล้านเหรียญสหรัฐ)

อ่านข่าวต้นฉบับ: ข้าวนึ่งอินเดียราคาถูก เบียดตลาดส่งออกไทย มี.ค. 67 ติดลบ 10.4%

อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ข้าวนึ่งอินเดียราคาถูก เบียดตลาดส่งออกไทย มี.ค. 67 ติดลบ 10.4%
ที่มา : Prachachat.net/economy

Leave a Reply

Your email address will not be published.