April 30, 2024

ธปท.เผยเงินบาทเดือน เม.ย. อ่อนค่า 1.7% เกาะภูมิภาค ชี้แรงกดดันค่าเงินลดลง

ธปท.เผยค่าเงินบาทไตรมาส 1/67 อ่อนค่านำภูมิภาค 7.8% เหตุปัจจัยเฟด-เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ คาดครึ่งหลังของปี 2567 เงินบาทปรับตัวดีขึ้นจากแรงกดดัน จ่ายเงินปันผล-ท่องเที่ยว เคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค หลังเดือน เม.ย.อ่อนค่า 1.7% ส่งสัญญาณอ่อนค่าน้อยกว่าประเทศอื่น

วันที่ 30 เมษายน 2567 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินในตลาดโลกในช่วงสิ้นปี 2566 จะเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนานขึ้น

ซึ่งจากเดิมตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 6 ครั้ง ลงมาสู่ระดับ 3.75% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ครั้งอยู่ที่ 5% และจากปัจจัยความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า 4.4% เมื่อเทียบกับสุกลเงินอื่น โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน ทองคำ และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ปรับขึ้น

ทั้งนี้ หากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท พบว่าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินดอลลาร์ โดยสกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์ โดยจะเห็นว่าสกุลเงินเยน-ญี่ปุ่นอ่อนค่าสุดในภูมิภาคอยู่ที่ 10% เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ดำเนินนโยบายเข้มงวดช้ากว่าตลาดคาดการณ์ ขณะที่ค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี-วันที่ 29 เม.ย. 2567 อ่อนค่าอยู่ที่ 7.8%

อย่างไรก็ดี เงินบาทในไตรมาส 1/2567 จะเห็นว่าอ่อนค่านำสกุลอื่น นอกจากปัจจัยนโยบายการเงินของเฟดแล้ว ไทยยังมีปัจจัยแรงกดดันมาจากตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่ออกมาค่อนข้างอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ ทำให้เงินบาทอ่อนค่านำภูมิภาค แต่หากดูตัวเลขในเดือน เม.ย. พบว่าการเคลื่อนไหวมีการเปลี่ยนแปลง โดยการอ่อนค่าอยู่ที่ 1.7% ถือว่าอ่อนค่าในระดับกลาง ๆ และยังเกาะกลุ่มกับภูมิภาค

“มองในระยะข้างหน้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ค่าเงินบาทจะปรับดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยชั่วคราวในไตรมาสที่ 2/67 เช่น การจ่ายเงินปันผล และภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอจะมีแรงกดดันน้อยลง เพราะในช่วงเดือนเม.ย. เราอ่อนค่า 1.7% ซึ่งมีประเทศอื่นอ่อนค่ากว่า เช่น เงินวอน-เกาหลี อ่อนค่า 2.2% สะท้อนว่าในไตรมาส 2/67 เราไม่ได้อ่อนค่านำภูมิภาค”

อ่านข่าวต้นฉบับ: ธปท.เผยเงินบาทเดือน เม.ย. อ่อนค่า 1.7% เกาะภูมิภาค ชี้แรงกดดันค่าเงินลดลง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ธปท.เผยเงินบาทเดือน เม.ย. อ่อนค่า 1.7% เกาะภูมิภาค ชี้แรงกดดันค่าเงินลดลง
ที่มา : Prachachat.net/finance

Leave a Reply

Your email address will not be published.