All News · June 19, 2023

ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตา “พาวเวลล์” แถลงคองเกรสพุธนี้

ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตา “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงต่อคองเกรสวันพุธนี้ ขณะที่แบบจำลองล่าสุดชี้ในไตรมาส 2/2566 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 1.1% 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/6) ที่ระดับ 34.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/6) ที่ระดับ 34.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16/6) ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 63.9 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 60.0 จากระดับ 59.2 ในเดือน พ.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และวิกฤตเพดานหนี้สหรัฐ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างดีดตัวขึ้น

นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.8% ในไตรมาส 2/2566 หลังจากขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1 โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 20 มิ.ย.

นอกจากนี้สหรัฐได้เปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคคาดว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะยังคงลดลงอย่างมาก โดยการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 1 ปี ลดลงจาก 4.2% ในการสำรวจครั้งก่อนสู่ระดับ 3.3% และการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะกลาง-ระยะยาวลดลงสู่ 3.0% จาก 3.1% ในการสำรวจครั้งก่อนหน้า

ทั้งนี้ในระหว่างวัน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.68-34.79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/6) ที่ระดับ 1.0934/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/6) ที่ระดับ 1.0947/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังจากแข็งค่าจากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี (15 มิ.ย.) ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ปรับตัวขึ้นสู่ 3.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2544 โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า มีโอกาสมากขึ้นที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า โกลด์แมน แซกส์, ยูนิเครดิต, บีเอ็นพี พาริบาส์ และนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า ยังคงต้องดำเนินการอีกมาก เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 2% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงกดดันด้านราคาที่ลดลงช้ากว่าคาดใน 20 ประเทศของยูโรโซน ซึ่งเป็นผลจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัว และการขยายตัวของค่าจ้างที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารส่วนใหญ่รวมถึงมอร์แกน สแตนเลย์ และนอร์เดีย ยังคงคาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวในเดือน ก.ค. โดยได้บ่งชี้ถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา, การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซา และความลังเลของบรรดาเจ้าหน้าที่ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป

นอกจากนี้ IMF ได้เรียกร้องให้รัฐบาลในยูโรโซนลดการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อช่วย ECB ฉุดเงินเฟ้อลง เพราะเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นพอสมควรในปีนี้และปีหน้า แม้ว่าภาวะการเงินจะตึงตัวมากขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0918-1.0946 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0918/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/6) ที่ระดับ 141.84/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/6) ที่ระดับ 141.01/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมเมื่อวันศุกร์ (16/6) โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control program) รวมทั้งคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0%

ซึ่งนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงิน โดยได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อว่า “เราคาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัว แต่ก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับการเจรจาค่าแรงในปีหน้า และมีความไม่แน่นอนว่าการขยายตัวของค่าแรงจะยั่งยืนหรือไม่”

โดยความคืบหน้าในการปรับการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ในเดือน ก.ค.นั้น BOJ จะตัดสินใจด้านนโยบายด้วยการพิจารณาถึงความคุ้มค่าของแต่ละมาตรการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งผลข้างเคียงในด้านต่าง ๆ เช่น ผลกระทบของนโยบายของ BOJ ที่จะมีต่อกลไกตลาด ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.43-142.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.96/00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางจีนประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LRR) (20/6), ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุม (21/6), อัตราเงินเฟ้อประเทศอังกฤษเดือน พ.ค. (21/6), สุนทรพจน์ของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส (21/22/6),

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (22/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (22/6), อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ของประเทศญี่ปุ่น (23/6), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการขั้นต้นเดือน มิ.ย.ของประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหภาพยุโรป และสหรัฐ (23/6), ตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ค.ของไทย (23/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.5/-11.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.90/8.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตา “พาวเวลล์” แถลงคองเกรสพุธนี้



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตา “พาวเวลล์” แถลงคองเกรสพุธนี้

TBN ปิดเทรดวันแรกราคาพุ่ง 42.50 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาไอพีโอถึง 150%
วัดเขาทำเทียม จากซากหุบเขาสัมปทานหินอู่ทองสู่แหล่งท่องเที่ยว Zero Emission

Home