All News · May 3, 2024

PCE ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น คาดว่า FED อาจจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้

PCE ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น คาดว่า FED อาจจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้

วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 22-26 เมษายน 2567

ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (29/4) ที่ระดับ 37.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 36.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของดอลลาร์ ภายหลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE)

ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.5% ในเดือน ก.พ. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน มี.ค. จากระดับ 0.3% ในดือน ก.พ. ซึ่งสอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.8% ในเดือน ก.พ. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน มี.ค.

ซึ่งสอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือน ก.พ. ภายหลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดการณ์ถึง 3 เดือนติดต่อกัน บ่งชี้ว่าความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้หยุดชะงักลง และส่งสัญญาณว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกอาจถูกเลื่อนออกไป โดยบรรดานักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1-2 ครั้งในปีนี้

โดยอาจเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. แต่ก็มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าเฟดอาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเลยในปีนี้ นอกจากนี้ในคืนวันพุธที่ผ่านมา (1/5) คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 โดยทางคณะกรรมการเฟดได้ชี้แจงเหตุผลว่า ทางเฟดได้รับข้อมูลว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

ขณะที่การจ้างงานก็ยังคงมีความแข็งแกร่งเช่นกัน โดยอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงมากกว่ากรอบเป้าหมายของเฟดที่ 2% โดยคณะกรรมการเฟดจะพยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว

ทั้งนี้การคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมครั้งนี้นั้น เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้กล่าวว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปีนี้จะออกมาเช่นใด เฟดจะยังคงมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้พาวเวลล์ได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 11-12 มิถุนายน นอกจากนี้เฟดยังได้ประกาศชะลอการใช้มาตรการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ซึ่งถือเป็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน

โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เฟดจะลดวงเงินพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่จะปล่อยให้ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม เหลือเพียง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ระดับ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่คงวงเงิน MBS ที่จะปล่อยให้ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม อยู่ที่ระดับ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ในวันพุธ (1/5) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนมีนาคมลดลงมาอยู่ที่ 8.49 ล้านตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 8.68 ล้านตำแหน่ง และน้อยกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 8.81 ล้านตำแหน่ง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน มี.ค. 2567 ว่าการส่งออกมีมูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวลง 10.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 จากตลาดคาดปรับตัวลง 4.0-5.0% โดยเป็นการพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเทียบกับฐานที่สูงในเดือน มี.ค. 2566 ประกอบกับปีนี้สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนชะลอออกสู่ตลาดไปเป็นเดือน เม.ย. ซึ่งต่างจากในเดือน มี.ค. 2566 ที่ปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดมาก ส่วนการนำเข้าเดือน มี.ค. 2567 มีมูลค่า 26,128 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 5.6% ส่งผลให้ในเดือน มี.ค.นี้ไทยขาดดุลการค้า 1,163 ล้านดอลลาร์

ขณะที่การส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่ารวม 70,995 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวลงเล็กน้อยที่ 0.2% การนำเข้ามีมูลค่า 75,470 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 3.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าในไตรมาส 1/67 ที่ 4,475 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้นายพรชัย ธีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ที่ 2.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%) ลดลงจากประมาณการเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% โดยถูกกดดันจากการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่คาดไว้และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ แผงวงจร และอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่มาจากสถานการณ์เอลนีโญ รวมถึงภาคการคลังที่ยังใช้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน จนถึงเกือบปลายเดือน เม.ย. 2567 ก่อนค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในวันศุกร์จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์เทียบกับเงินสกุลหลัก ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.72-37.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/5) ที่ระดับ 36.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (29/4) ที่ระดับ 1.0710/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 1.0736/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ภายหลังการเปิดเผยผลการศึกษาของสถาบันเศรษฐกิจเยอรมนี (IW) ระบุว่า เศรษฐกิจที่อ่อนแอของเยอรมนีเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน โดยคาดว่าจำนวนคนว่างงานจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี

โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า การว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับเฉลี่ยที่ต่ำกว่า 2.8 ล้านคนเพียงเล็กน้อยในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ต่อมาข้อมูลเศรษฐกิจเบื้องต้นของเยอรมนีเผยให้เห็นในวันจันทร์ (29/4) ว่าอัตราเงินเฟ้อใน 4 รัฐสำคัญของเยอรมนีชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วประเทศอาจดีดตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนนี้ นอกจากนี้วันอังคารที่ผ่านมา (30/4) ทางยูโรโซนได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 2.4% เมื่อเทียบรายปี และเท่ากับในเดือนมีนาคม

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงาน อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ชะลอตัวลงจาก 2.9% ในเดือนมีนาคม สู่ระดับ 2.7% ในเดือนเมษายน ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.6% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0648-1.0743 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 1.0740/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (29/4) ที่ระดับ 158.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 156.69/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของดอลลาร์ ภายหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.1% ในการประชุมวันศุกร์ (26/4) ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ หลังจากที่ BOJ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มี.ค.ส่งผลให้ค่าเงินเยนร่วงลงแตะระดับต่ำใหม่หลายครั้งเมื่อเทียบกับดอลลาร์

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและญี่ปุ่นจะยังคงเป็นเช่นนี้อีกระยะหนึ่ง ต่อมาในวันจันทร์ (26/4) ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 160 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นานค่าเงินเยนแข็งค่าลงมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยนักวิเคราะห์ยังคงถกเถียงกันว่าเกิดจากการแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่นหรือไม่ โดยในวันพฤหัสบดีค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่า หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) รายงานข้อมูลตัวเลขที่บ่งชี้ว่า ญี่ปุ่นอาจใช้เงิน 3.66 ล้านล้านเยน (2,359 หมื่นล้านดอลลาร์) ในวันจันทร์ เพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยน หลังจากเยนดิ่งลงแตะ 160.245 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงแรกของวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1990 หรือจุดต่ำสุดรอบ 34 ปี ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 152.74-160.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/4) ที่ระดับ 153.19/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: PCE ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น คาดว่า FED อาจจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…PCE ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น คาดว่า FED อาจจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้

“พิมพ์ภัทรา” ไล่กวาดล้างขยะอุตสาหกรรมสางปัญหาทั้งระบบ
ก.ล.ต. เตือนผู้ถือหุ้น WORLD ใช้สิทธิโหวตกรณีขายหุ้น WIE ให้บุคคลเกี่ยวโยงกัน

Home