All News · April 25, 2024

บาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาตัวเลข GDP สหรัฐคืนนี้

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาตัวเลข GDP สหรัฐคืนนี้

วันที่ 25 เมษายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/4) ที่ระดับ 37.11/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/4) ที่ระดับ 37.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ

เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ก.พ. ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.2% ในเดือน มี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวที่ระดับ 2.6% ส่วนปี 2568 ขยายตัวที่ระดับ 3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และค่าใช้จ่ายต่อคนที่อยู่ในทิศทางขยายตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 2567 จะอยู่ที่ 35.5 ล้านคน และปี 2568 อยู่ที่ 39.5 ล้านคน

(2) การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 3.5% แม้ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวที่สูงในปี 2566 โดยการบริโภคหมวดบริการและการใช้จ่ายของกลุ่มรายได้สูง เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ และ (3) การใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี หลังจากลดลงมากในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่ภาคการส่งออกและการผลิต มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญกับความไม่แน่นอน จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่อาจช้ากว่าคาด ปัญหาภาวะสินค้าล้นตลาดและปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทย รวมถึงผลของการเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

นอกจากนี้ รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะกรรมการ (ครม.) ลงวันที่ 22 เม.ย. 67 เพื่อเสนอเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ผ่านความเห็นชอบหลักการจาก ครม.เมื่อวานนี้ โดยมีเนื้อหาความเห็นบางส่วนเสนอแนะให้ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.00-37.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/4) ที่ระดับ 1.0707/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/4) ที่ระดับ 1.0689/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้แรงหนุน หลังสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไอเอฟโอ (Ifo) เผยรายงานการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน เม.ย. ของเยอรมนีอยู่ที่ระดับ 89.4 ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 87.9 เมื่อเดือน มี.ค.และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์สคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 88.8 โดยในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0698-1.0725 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0725/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/4) ที่ระดับ 155.40/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/4) ที่ 154.91/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเริ่มการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ และนักลงทุนจะจับตาการดำเนินการเกี่ยวกับเงินเยนที่อ่อนค่าลง โดยเงินเยนอ่อนค่าลงทะลุระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดใหม่ในรอบ 34 ปี ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 155.23-155.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 155.64/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (25/4), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 (ประมาณการเบื้องต้น) ของสหรัฐ (25/4), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) ของสหรัฐเดือน มี.ค. (25/4), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ (26/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน เม.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/4), ธนาคารกลางญี่ปุ่นประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (26/4), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของญี่ปุ่นเดือน เม.ย. (26/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.70/-8.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.00/-5.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: บาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาตัวเลข GDP สหรัฐคืนนี้



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…บาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตาตัวเลข GDP สหรัฐคืนนี้

เตรียมช็อปรับเปิดเทอม พาณิชย์ขนสินค้า 8,000 รายการ ลดสูงสุด 80%
ตลท. แจ้งอย่างเป็นทางการ “พิชัย ชุณหวชิร” ลาออก “ประธานบอร์ด” มีผลทันที

Home