All News · April 23, 2024

วิจัยกรุงศรีฯ ชี้ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ยังเผชิญอุปสรรค แม้แหล่งเงินทุนชัด

วิจัยกรุงศรี มองโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้านบาท หนุนจีดีพี 0.5-1.1% หวังกระตุ้นการใช้จ่ายเอกชนไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่ระยะสั้นเผชิญอุปสรรคและความไม่แน่นอน เหตุ กำลังซื้ออ่อนแอ-ราคาสินค้าเกษตรลดลง ย้ำ ผลกระตุ้นขึ้นอยู่กับ “เงื่อนไข-ช่วงเวลา-การเริ่มโครงการ”

วันที่ 23 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ระบุว่า ความหวังจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังเผชิญอุปสรรคและความไม่แน่นอน

โดยความไม่แน่นอนยังรออยู่แม้แหล่งเงินที่ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลตจะชัดขึ้น วิจัยกรุงศรีคาดมีผลต่อเศรษฐกิจราว 0.5-1.1% ของ GDP เมื่อวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลได้ชี้แจงแหล่งเงินสำหรับใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท 2.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 1.527 แสนล้านบาท และ 3.การใช้เงินตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) วงเงิน 1.723 แสนล้านบาท สำหรับเกษตรกร 17 ล้านคน ทั้งนี้ ทางการมีแผนเปิดให้ประชาชนและร้านค้าเริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในไตรมาส 3 และกำหนดจะให้ใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

แม้ว่าจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับแหล่งที่มาของการระดมทุนสำหรับโครงการนี้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคและความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า อาทิ กระบวนการระดมทุน เงื่อนไขการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กในระดับอำเภอ และระหว่างร้านค้ากับร้านค้าไม่จำกัดพื้นที่ การขึ้นเงินสดของร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีและต้องใช้จ่ายในรอบที่ 2 ขึ้นไป

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าโครงการนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจรวมแล้วคิดเป็น 0.5-1.1% ของ GDP ซึ่งผลกระทบในแต่ละปีจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับรายละเอียด เงื่อนไข ช่วงเวลา และการเริ่มโครงการ นอกจากนี้ ในส่วนของงบประมาณปี 2567 เป็นเงินที่รวมอยู่ในประมาณการเศรษฐกิจแล้ว

ทั้งนี้ โครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแม้เพิ่มความหวังการใช้จ่ายภาคเอกชนที่จะเติบโตเร่งขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่การบริโภคในระยะนี้อาจถูกปัจจัยกดดันจาก

1.กำลังซื้อที่อ่อนแอลงในไตรมาส 2/2567 หลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy E-Receipt ในเดือนกุมภาพันธ์ 2.แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่หดตัวจากการลดลงของผลผลิต และ 3.ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 91.3% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 4/2566

รัฐบาลภาคท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในช่วงต้นไตรมาส 2 และยังได้ปัจจัยหนุนจากการขยายมาตรการวีซ่าฟรีเพิ่มเติม กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬารายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 14 เมษายน มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยรวมทั้งสิ้นแล้ว 10.72 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 43% สร้างรายได้เข้าประเทศ 518,036 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 2.03 ล้านคน มาเลเซีย 1.39 ล้านคน รัสเซีย 0.70 ล้านคน เกาหลีใต้ 0.62 ล้านคน และอินเดีย 0.55 ล้านคน

ภาคท่องเที่ยวยังคงเป็นความหวังหลักในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่อง เที่ยวต่างชาติเข้าไทยรวมทั้งสิ้น 9.37 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 8.10 ล้านคนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน และคิดเป็น 87% ของช่วงเดียวกันในปี 2562 (ก่อนเกิดการระบาดโควิด)

ด้านรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 454,653 ล้านบาท หรือคิดเป็น 88% ของช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด ซึ่งนับว่าทางด้านรายได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีรายได้จากการท่อง เที่ยวราว 63% ของช่วงก่อนเกิดระบาด

อย่างไรก็ตาม ด้านนักท่องเที่ยวจากจีนช่วงไตรมาส 1/2567 ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด (56% ของช่วงก่อนเกิดระบาด) นอกจากนี้ แม้ในช่วงเดือนเมษายนภาคท่องเที่ยวอาจยังได้อานิสงส์จากเทศกาลสงกรานต์ แต่แนวโน้มการเติบโตอาจชะลอลงบ้างในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวของไตรมาส 2/2567

ล่าสุด รัฐบาลเตรียมขยายมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa-free) สำหรับนักท่อง เที่ยวคาซัคสถานเป็นแบบถาวร จากเดิมซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้

อ่านข่าวต้นฉบับ: วิจัยกรุงศรีฯ ชี้ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ยังเผชิญอุปสรรค แม้แหล่งเงินทุนชัด



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…วิจัยกรุงศรีฯ ชี้ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ยังเผชิญอุปสรรค แม้แหล่งเงินทุนชัด

จุดความร้อนของไทยขยับขึ้น 1,051 จุด “เชียงใหม่” พุ่งทะลุกว่าร้อยจุด
เปิดชีวิตแม่บ้านญี่ปุ่น "หน่อย บุษกร" เข้าครัวทำอาหาร บรรยากาศหลักล้านสุดๆ

Home