All News · April 22, 2024

1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ต้องลงทะเบียนง่าย ประชาชนเข้าถึงอย่างเป็นธรรม

เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 เดินหน้าโครงการ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” การลงทะเบียนจะต้องเป็นระบบที่ง่าย ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม

วันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567

โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

พร้อมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

นายเศรษฐา ทวีสิน มอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า นโยบายในแต่ละสาขา ควรเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและคน ในช่วงของต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้น ต้องการฝึกฝนหรือเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต พร้อมมอบนโยบายในการทำงาน จำนวน 3 ข้อ ดังนี้

  1. ขอให้ทำแผนการ “รับ Register” เพื่อคัด 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ให้เร็วที่สุด เพื่อเราจะได้แยกความรู้ความสามารถตามความชำนาญและสาขาอาชีพ และนำคนไปเข้าหลักสูตรฝึกอบรม ซึ่งควรจะมีทั้ง Online และ Onsite ตามความสามารถ รวมถึงต้องจัด Class และวิธีการคัดเลือกผู้เข้าเรียนให้ทั่วถึงและยุติธรรม
  2.  ขอให้เตรียม “เนื้อหา Content” ที่จะใช้ในการ Upskill-Reskill ให้ตรงกับความชำนาญ และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ First Impression ในการเรียนรู้สำคัญมาก ไม่อยากเห็นประชาชนสมัครเข้ามาแล้วพบว่าไม่ได้มีเนื้อหาอะไรที่จะสอน ไม่อยากเห็นภาพคนเข้าโครงการ แต่เนื้อหาไม่น่าสนใจ เกิดเป็น Bad Experience และทำให้คน Drop off ไปได้ และที่สำคัญ วิธีการเรียนการสอน ต้องเข้าใจง่าย มีมาตรฐานที่ดี
  3. การจัด Event ต้องขอให้เป็นการ “ต่อยอด” จากที่ภาคอุตสาหกรรมทำอยู่แล้ว รัฐควรพิจารณาในการต่อยอด Event ที่ทำแล้วจะช่วยขยายผลได้มาก ต่อยอดจากภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น และต้องให้แน่ใจว่าการต่อยอดนั้นเป็นประโยชน์มากขึ้น มีความคุ้มค่าในการลงทุน ฉะนั้น ขอให้มีตัวชี้วัดชัดเจนว่า การมีรัฐลงทุน จะช่วยขยายผลได้อย่างไร

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายเศรษฐา ทวีสิน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เศรษฐา ทวีสิน-Srettha Thavisin ว่า Soft Power คือ หนึ่งในโครงการเรือธงของรัฐบาล สร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้คนไทย ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต

การประชุมคณะกรรมการ Soft Power ชุดใหญ่วันนี้ การจัดกิจกรรม รวมถึงการขับเคลื่อน Soft Power ของแต่ละอุตสาหกรรมก้าวหน้าไปเยอะครับ ตัวนโยบายในแต่ละสาขา จะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม และคนในช่วงของต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มต้นและต้องการฝึกฝนหรือเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต

งานที่จะเดินหน้าต่อนั้น ในเรื่อง 1 ครอบครัว 1 Soft Power การลงทะเบียนจะต้องเป็นระบบที่ง่าย ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ และเข้าใจง่าย ส่งเสริมให้เกิดการ Upskill และ Reskill ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน และการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ ในส่วนของการจัด Event รัฐบาลจะเน้นการต่อยอดจากภาคอุตสาหกรรมที่ทำอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดผลคุ้มค่ากับการลงทุนครับ

อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ การจัดงาน SPLASH หรือการประชุมนานาชาติด้าน Soft Power ในธีม Culture as a Future ซึ่งจะเป็นการสื่อสารนโยบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยที่มีทักษะนั้น จะเป็นโครงการเปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยยึดประโยชน์ที่ประชาชนร่วมงานเป็นสำคัญ ใครสนใจเข้ารับการอบรม หรือเข้าร่วมกิจกรรมใน Soft Power ด้านไหน ติดตามรับฟังข่าว และเตรียมตัวให้พร้อมครับ

แพทองธาร ชินวัตร

ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แถลงภายหลังการประชุมว่า โครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ จะมีการลงทะเบียนในต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งจะมีทั้งออนไลน์และผ่านกองทุนหมู่บ้าน อยากให้ช่วยติดตามเพจ THACCA (Thailand Creative Content Agency) เพื่อรอรับรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการสมัคร

หลังจากประชุม เราได้ข้อสรุปในครั้งนี้ รวมถึงเรื่องงบประมาณ ซึ่งในวันนี้เป็นการนำผลการประชุมจากคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มานำเรียนต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ รวมถึงคณะรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ที่เป็นคณะกรรมการร่วม

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ที่ประชุมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพิ่มเติม และรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณคณะกรรมการทุกท่าน ที่ได้ดำเนินโครงการซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่าง ๆ เกิดผลดีต่อประเทศไทย ทำให้ต่างชาติรู้จักความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการการจัดประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ และเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณการจัดประชุม โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบฯกลางต่อไป

รวมทั้งเห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายทั้ง 11 สาขา ปี 2567 พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณโครงการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เป้าหมายทั้ง 11 สาขา ปี 2567 โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบฯกลางต่อไป

นายกรัฐมนตรีกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดของโครงการ ลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงาน พร้อมกับเน้นย้ำเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณต้องถูกต้องตามระเบียบราชการ ตรงตามวัตถุประสงค์ ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ได้รับเป็นสำคัญ โดยให้เรียงลำดับความสำคัญของโครงการในการพิจารณางบประมาณ

ขอให้คณะกรรมการและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันขับเคลื่อน ผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุด หากติดขัดปัญหาตรงไหนขอให้รายงานมาให้ทราบ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหา ช่วยให้เกิดผลสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้” นายคารมกล่าว

เศรษฐา ทวีสิน

แพทองธารเดินหน้า “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” ลงทะเบียนต้น มิ.ย. 67

อ่านข่าวต้นฉบับ: 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ต้องลงทะเบียนง่าย ประชาชนเข้าถึงอย่างเป็นธรรม



ที่มา : Prachachat/d-life
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ต้องลงทะเบียนง่าย ประชาชนเข้าถึงอย่างเป็นธรรม

กบน. เคาะลดอัตราเงินชดเชยกองทุน 61 สต./ลิตร อุ้มดีเซลไม่เกิน 31 บาท
เซ็นทารา เปิดตัว “โคซี่ เวียงจันทน์ น้ำพุ” โรงแรมสมัยใหม่ ใจกลางเมือง

Home