All News · April 22, 2024

ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ตลาดจับตา PCE ศุกร์นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/4) ที่ระดับ 36.94/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/4) ที่ระดับ 36.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์ยังคงแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก และทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุในรายงานเสถียรภาพด้านการเงินรายครึ่งปีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19/4) ว่า

บรรดานักลงทุนและผู้สังเกตการณ์ในตลาดการเงินมองว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินคาดท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงนั้น ถือเป็นความเสี่ยงมากที่สุดต่อเสถียรภาพด้านการเงิน แต่ความเสี่ยงของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อนั้นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้รายงานดังกล่าวประกอบด้วยผลสำรวจบุคคลที่เกี่ยวข้องในตลาดการเงิน รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของเฟดใน 4 ประเด็นหลัก

ได้แก่ การประเมินมูลค่าสินทรัพย์, การกู้ยืมโดยธุรกิจและครัวเรือน, หนี้สินในภาคการเงิน และความเสี่ยงด้านการเข้าถึงเงินทุน ด้านนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30 เมษายน-1 พฤษภาคม โดยตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุม ซึ่งนักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนกันยายน

โดยนักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของเฟดเป็นเดือนกันยายน จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนมิถุนายน หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินฟ้อในสหรัฐที่ยังคงปรับตัวในระดับสูง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เชิญหัวหน้าทุกพรรคการเมืองหารือกัน เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจในการดำเนินนโยบายและการบริหารงานภายในรัฐบาล ซึ่งในวันนี้ได้คุยกันเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะมีนำเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (23/4) โดยได้หารือกันถึงรายละเอียดรวมถึงแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งยืนยันว่าถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง และวันพรุ่งนี้เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจน จะทำการแถลงข่าวให้ทราบต่อไป โดยในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.93-37.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/4) ที่ระดับ 1.0665/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/4) ที่ระดับ 1.0654/58 โดยช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา (19/4) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมรนี (Destatis) มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนีในเดือนมีนาคม 2567 ลดลง 2.9% เมื่อเทียบรายปี หลังจากลดลง 4.1% ในเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้ ดัชนี PPI ดังกล่าวออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดไว้ว่าอาจลดลง 3.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PPI ของเยอรมนีในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 0.2% โดยพลิกฟื้นหลังจากลดลง 0.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0645-1.0670 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0657/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/4) ที่ระดับ 154.64/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/4) ที่ระดับ 154.49/52 โดยนายคาซูโยะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการกล่าวเมื่อวันศุกร์ (12/4) ว่า BOJ มีแนวโน้มอย่างมากที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเพิ่มขึ้น

โดยเน้นย้ำว่าการตัดสินใจในอนาตจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเงินเฟ้อ หลังจาก BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี ในการประชุมนโยบายครั้งก่อนในเดือนมีนาคมนั้น นายอุเอดะยอมรับว่า การที่ญี่ปุ่นมีอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์มาเป็นเวลานานนั้น ทำให้ BOJ เผชิญความยากลำบากในการกำหนดว่าอัตราดอกเบี้ยควรจะอยู่ที่ระดับสูงเพียงใด

อย่างไรก็ตาม สำหรับตอนนี้ นายอุเอดะได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลาย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% นายอุเอดะยังระบุเสริมด้วยว่า BOJ กำลังจับตาการขยายตัวของค่าจ้างและเงินเฟ้อจากราคาค่าาบริการ เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 154.45-154.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 154.71/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน มี.ค.จากเฟดชิคาโก (22/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนเมษายนจากเอสแอนด์พี โกลบอล (23/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนเมษายนจากเอสแอนด์พี โกลบอล (21/4), ยอดขายบ้านใหม่เดือนมีนาคม (23/4), ดัชนีการผลิตเดือนเมษายนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ (23/4), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมีนาคม (24/4), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงงานสหรัฐ (EIA) (24/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (25/4), ประมาณการเบื้องต้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 (25/4), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนมีนาคม (25/4), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมีนาคม (26/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน เม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศที่ -8.7/-8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.5/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ตลาดจับตา PCE ศุกร์นี้



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ตลาดจับตา PCE ศุกร์นี้

เปิดชื่อหุ้น “บิ๊กลอต” โผล่! LH รายการเดียว 38.86 ล้านหุ้น
เจนเนอราลี่ กรุ๊ป ปรับผังองค์กรครั้งใหญ่ ธุรกิจทั่วโลก มีผลตั้งแต่ 1 มิ.ย. 67

Home