All News · April 20, 2023

เรื่องวุ่น AT1 เครดิตสวิส นักลงทุนสิงคโปร์เตรียมฟ้อง โบรกญี่ปุ่นสูญรวมแสนล้านเยน

อัพเดตความเคลื่อนไหวราวหนึ่งเดือนหลังตราสารหนี้ AT1 ของเครดิตสวิส (Credit Suisse) ถูกตัดมูลค่าเป็นศูนย์ นักลงทุนสิงคโปร์เตรียมฟ้องรัฐบาลสวิส ด้านโบรกเกอร์ญี่ปุ่นขาย AT1 เครดิตสวิสให้ลูกค้ารวม 100,000 ล้านเยน ขณะที่แบงก์ใหญ่ญี่ปุ่นออก AT1 ขายรายแรกหลังเกิดเหตุ สะท้อนความเชื่อมั่นในตลาดญี่ปุ่นฟื้น

จากกรณีตราสารหนี้ AT1 หรือ CoCoBond ของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) มูลค่า 16,000 ล้านฟรังก์สวิส (ราว 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถูกหน่วยงานกำกับดูแลตลาดเงินประเทศสวิตเซอร์แลนด์สั่งตัดมูลค่าเป็นศูนย์ เมื่อธนาคารเครดิตสวิสขายกิจการให้ธนาคาร UBS ภายใต้เงื่อนไขการช่วยเหลือของรัฐบาล ในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้ถือตราสารหนี้ต้องสูญเงินทั้งหมด  

มีข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ให้ทราบกันในตลาดเงินตลาดทุนว่า ตราสารหนี้ AT1 ของธนาคารเครดิตสวิสส่วนใหญ่ถูกขายให้กับนักลงทุนนอกสวิตเซอร์แลนด์ผ่านสถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ และสร้างความกังวลในตลาดเอเชียไม่น้อยไปกว่าที่อื่น โดยเฉพาะในประเทศ/เขตการปกครองที่ประชากรมีฐานะร่ำรวยอย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ 

แม้ว่าข่าวคราวตราสารหนี้ AT1 จะซาลงไปจากในระยะแรกแล้ว และดูเหมือนว่าผู้เสียหายจะทำอะไรไม่ได้ แต่เรื่องนี้ยังไม่จบง่าย ๆ ยังมีเจ้าหนี้-ผู้เสียหายปรากฏออกมาให้เห็นเรื่อย ๆ และยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามสำหรับนักกลงทุนและคนที่สนใจ 

ในสิงคโปร์ Strait Times รายงานเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 ว่า นักลงทุนประมาณ 30 รายในสิงคโปร์ซึ่งประกอบด้วยนักลงทุนรายย่อยและบริษัทขนาดเล็กที่ถือครองตราสารหนี้ AT1 ของเครดิตสวิสมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์ (ซึ่งถูกทำให้ไร้ค่าในตอนนี้) กำลังพยายามฟ้องร้องรัฐบาลสวิสที่ล้างมูลค่าตราสารหนี้ AT1 ของธนาคารเครดิตสวิสอย่างไม่เป็นธรรม

ผู้ถือตราสารหนี้ในสิงคโปร์บอกว่าคำสั่งของรัฐบาลสวิสเป็นการละเมิดสิทธิ์ที่นักลงทุนชาวสิงคโปร์ได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสิงคโปร์กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็น 1 ใน 4 สมาชิก EFTA ที่ลงนามร่วมกับสิงคโปร์ใน พ.ศ. 2546 

ทนายความ โจนาธาน ลิ้ม (Jonathan Lim) หุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมาย WilmerHale ซึ่งเชี่ยวชาญด้านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กล่าวว่า นักลงทุนชาวสิงคโปร์มีความคุ้มครองพิเศษบางอย่างภายใต้ข้อตกลง Singapore-EFTA ที่กำหนดให้มีการปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติอย่าง “ยุติธรรมและเท่าเทียม” ซึ่งการที่หน่วยงานภาครัฐของสวิตเซอร์แลนด์สั่งให้ผู้ถือพันธบัตรต้องรับผลขาดทุนก่อนผู้ถือหุ้น อาจจะเป็นการละเมิดสนธิสัญญานี้ 

นอกจากนั้น สนธิสัญญานี้ยังกำหนดว่าการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลที่เป็นการยึดทรัพย์สินของผู้อื่น จะต้องไม่กระทำโดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รับค่าชดเชย ดังนั้น นักลงทุนในสิงคโปร์จึงมีข้อโต้แย้งว่า การตัดราคาตราสารหนี้ทั้งหมดอาจถือเป็นการเวนคืนในทางอ้อม 

ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานอ้างอิงคำบอกเล่าของแหล่งข่าวว่า บริษัทหลักทรัพย์ Mitsubishi UFJ Morgan Stanley Securities ของญี่ปุ่นคือหนึ่งในสถาบันที่ขายกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ AT1 ของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) มูลค่าประมาณ 95,000 ล้านเยน (712 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนร่ำรวยในประเทศญี่ปุ่น  

มีบัญชีลูกค้าของ Mitsubishi UFJ Morgan Stanley ประมาณ 1,500 บัญชีที่ถือตราสารหนี้ AT1 ของธนาคารเครดิตสวิสอยู่ในขณะที่ตราสารหนี้ดังกล่าวสูญมูลค่าไปแล้ว

ทั้งนี้ ตราสารหนี้ AT1 ของเครดิตสวิสที่ขายโดย Mitsubishi UFJ Morgan Stanley คิดเป็นประมาณ 4% ของตราสารหนี้ AT1 ทั้งหมดของธนาคารเครดิตสวิส

ต่อมา วันที่ 20 เมษายน 2566 สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า โทชิโอะ โมริตะ (Toshio Morita) ประธานสมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์แห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Securities Dealers Association: JSDA) ยืนยันแล้วว่า บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ในญี่ปุ่นได้ขายตราสารหนี้ AT1 ของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ให้แก่ลูกค้าในญี่ปุ่นเป็นมูลค่ารวมกันราว 100,000 ล้านเยน หรือประมาณ 744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ตามรายงานของ JSDA โบรกเกอร์ญี่ปุ่นที่ขาย AT1 ของเครดิตสวิสให้ลูกค้ามากที่สุด คือ Mitsubishi UFJ Morgan Stanley Securities ที่ขายให้ลูกค้าทั้งภาคธุรกิจและลูกค้ารายย่อยที่ร่ำรวย รวมมูลค่าประมาณ 95,000 ล้านเยน ซึ่งบริษัทจะรับผิดชอบความเสียหายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาเดียวกันก็ดูเหมือนว่าความกังวลของนักลงทุนในญี่ปุ่นที่มีต่อตราสารหนี้ AT1 เร่ิมคลี่คลายเบาบางลงแล้ว เห็นได้จากการที่ธนาคาร Sumitomo Mitsui Financial Group (SMFG) ในประเทศญี่ปุ่น เสนอขายตราสารหนี้ AT1 มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นธนาคารรายใหญ่ระดับโลกรายแรกที่เสนอขายตราสารหนี้ AT1 หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ตราสารหนี้ AT1 ของเครดิตสวิสถูกตัดมูลค่าเป็นศูนย์ 

ตามการรายงานของ Reuters นานา โอสึกิ (Nana Otsuki) นักวิจัยอาวุโสของ Pictet Japan วิเคราะห์ว่า การที่ Sumitomo Mitsui Financial Group (SMFG) ขายตราสารหนี้ AT1 ในตอนนี้ ทั้งที่มีทางเลือกที่จะยังไม่ขายก็ได้ สะท้อนว่าความเชื่อมั่นต่อตราสารหนี้ AT1 ในญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวแล้ว และอาจปูทางไปสู่การเริ่มกลับมาเสนอขาย AT1 อีกครั้งในยุโรป ซึ่งธนาคารต่าง ๆ กำลังต่อสู้กับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น 

ในบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 17 เมษายน ของ Morgan Stanley นักวิเคราะห์ประเมินว่า ธนาคารในยุโรปจะต้องออกตราสารหนี้มูลค่ามากกว่า 400,000 ล้านยูโรในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากว่าจะเป็นการออกตราสารหนี้ AT1 ภายในปี 2566 นี้ 

อ่านข่าวต้นฉบับ: เรื่องวุ่น AT1 เครดิตสวิส นักลงทุนสิงคโปร์เตรียมฟ้อง โบรกญี่ปุ่นสูญรวมแสนล้านเยน



ที่มา : Prachachat/finance
อ่านเพิ่มเติมได้ที่…เรื่องวุ่น AT1 เครดิตสวิส นักลงทุนสิงคโปร์เตรียมฟ้อง โบรกญี่ปุ่นสูญรวมแสนล้านเยน

"พูน แก้วภราดัย" ย้ำคนเมืองคอนต้องการ "บิ๊กตู่" กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง
กต.เตรียมอพยพคนไทยที่รับผลกระทบจากสถานการณ์รุนแรงในซูดาน

Home